ทำไมบริษัทประกันไม่จ่ายเงินเมื่อผู้เอาประกันตาย

ทำไมบริษัทประกันไม่จ่ายเงินเมื่อผู้เอาประกันตาย

ผู้บริโภคที่ทำสัญญาประกันชีวิตกับบริษัทประกันภัยมีหน้าที่ต้องเปิดเผยความจริงเกี่ยวกับโรคร้ายแรงให้บริษัทประกันภัยทราบในขณะทำสัญญาหรือต่อสัญญา หากโกหกหรือปกปิด บริษัทประกันภัยก็จะบอกเลิกสัญญาในภายหลัง และผู้รับประโยชน์ก็จะไม่ได้รับเงินตามสัญญาประกันชีวิต แนวคำพิพากษาของศาลฎีกาที่ผ่านมาเกี่ยวกับการบอกล้างสัญญาประกันภัยของบริษัทประกันชีวิต มีดังนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่อ้างอิง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1277/2524
การที่ผู้เอาประกันภัยละเว้นไม่เปิดเผยข้อความจริงอันจะทำให้สัญญาประกันภัยตกเป็นโมฆียะตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 865 นั้น ต้องเป็นข้อความซึ่งผู้เอาประกันภัยรู้อยู่แล้วว่าจะเป็นเหตุจูงใจให้ผู้รับประกันภัยเรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นอีก หรือให้บอกปัดไม่ยอมทำสัญญา
ผู้เอาประกันภัยเป็นคนอ่านหนังสือไม่ออก และมิได้ทราบถึงความร้ายแรงแห่งโรคที่ตนเป็นอยู่ เพราะยังคงทำงานได้เช่นคนปกติทั่วไป ทั้งตัวแทนของจำเลยก็มิได้สอบถามประวัติความป่วยเจ็บของผู้เอาประกันภัย เพียงแต่สอบถามอายุและให้ลงลายมือชื่อในแบบคำขอเอาประกัน แล้วตัวแทนจำเลยก็นำแบบคำขอเอาประกันภัยนั้นไปกรอกข้อความ เสียเอง ผู้เอาประกันภัยจึงไม่มีโอกาสจะได้รู้ข้อความจริง ที่ตนเคยเป็นโรคความดันโลหิตสูงมาก่อน อันจะเป็นเหตุจูงใจให้จำเลยเรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้น หรือให้จำเลยบอกปัดไม่ยอมทำสัญญาประกันภัยหรือไม่ เมื่อผู้เอาประกันภัยไม่รู้เช่นนี้จึงจะถือว่าผู้เอาประกันภัยรู้อยู่แล้วละเว้นเสีย ไม่เปิดเผยข้อความจริงนั้นหาได้ไม่ จำเลยจึงไม่มีสิทธิ บอกล้าง สัญญาประกันชีวิตรายนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 865
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4457/2536
นายล.ตัวแทนหาประกันชีวิตของจำเลยเอาแบบคำขอเอาประกันชีวิตให้เด็กหญิง ป. อายุเพียง 8 ปี ลงลายมือชื่อ ไว้โดยไม่ได้กรอกข้อความ แล้วนายล.นำแบบคำขอเอาประกันชีวิตดังกล่าวไปกรอกข้อความเอง เด็กหญิง ป. จึงไม่อยู่ในวิสัยที่จะแจ้งข้อความเกี่ยวกับความป่วยเจ็บของตนให้ทราบได้ และไม่สามารถจะทราบความร้ายแรงของโรคที่ตนเป็นอยู่ได้ จึงถือไม่ได้ว่าผู้เอาประกันภัยละเว้นไม่เปิดเผยข้อความจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 865 วรรคแรก คำขอเอาประกันชีวิตไม่มีกฎหมายบังคับว่าต้องมีพยานเอกสารมาแสดงโจทก์มีสิทธิสืบพยานบุคคลเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารดังกล่าวได้ ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 94(ข)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1247/2514
อายุความบอกล้างสัญญาประกันภัยตอนแรกของมาตรา 865 วรรคสองนั้นหมายถึงว่า ผู้รับประกันภัยต้องใช้สิทธิบอกล้างภายในกำหนดเดือนหนึ่งนับแต่วันที่ผู้รับประกันภัยทราบมูลอันจะบอกล้างได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8612/2550
แม้ ป.พ.พ. มาตรา 865 วรรคสอง จะให้สิทธิผู้รับประกันภัยบอกล้างโมฆียะกรรมได้แต่สัญญาประกันชีวิตเป็นนิติกรรมสองฝ่าย การบอกล้างโมฆียะกรรมต้องแสดงเจตนาแก่คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็นบุคคลที่มีตัวกำหนดได้แน่นอนตาม ป.พ.พ. มาตรา 178 เมื่อจำเลยต้องการบอกล้างโมฆียะกรรมสัญญาประกันชีวิตย่อมต้องแสดงเจตนาแก่โจทก์ทั้งสามผู้รับประโยชน์ซึ่งเป็นคู่กรณีอีกฝ่าย มิใช่เพียงแสดงหลักฐานฝ่ายเดียวว่าตนได้ใช้สิทธิบอกล้างแล้ว การแสดงเจตนาที่กระทำต่อบุคคลซึ่งมิได้อยู่เฉพาะหน้าให้ถือว่ามีผลนับแต่เวลาที่การแสดงเจตนานั้นไปถึงผู้รับการแสดงเจตนาตาม ป.พ.พ. มาตรา 169 คดีนี้จำเลยมีหนังสือบอกล้างโมฆียะกรรมไปถึงโจทก์ทั้งสามที่จังหวัดพิจิตรทางไปรษณีย์ อันเป็นการแสดงเจตนาแก่บุคคลผู้อยู่ห่างโดยระยะทาง การบอกล้างโมฆียะกรรมย่อมมีผลนับแต่เวลาที่หนังสือไปถึงโจทก์ทั้งสาม เมื่อนับจากวันที่จำเลยทราบมูลอันจะบอกล้างได้ ในวันที่ 6 สิงหาคม 2540 ถึงวันที่การแสดงเจตนาบอกล้างโมฆียะกรรมมีผลในวันที่ 7 หรือ 8 กันยายน 2540 จึงพ้นกำหนด 1 เดือน นับแต่วันที่จำเลยทราบมูลอันจะบอกล้างโมฆียะกรรมนั้น การบอกล้างโมฆียะกรรมของจำเลยจึงไม่ชอบ ถือไม่ได้ว่าจำเลยใช้สิทธิบอกล้างสัญญาประกันชีวิตดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 865 วรรคสอง จำเลยต้องรับผิดใช้เงินตามสัญญาประกันชีวิตให้โจทก์ทั้งสาม
ตัวบทกฎหมายอ้างอิง
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 865 ถ้าในเวลาทำสัญญาประกันภัย ผู้เอาประกันภัยก็ดี หรือในกรณีประกันชีวิต บุคคลอันการใช้เงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของเขานั้นก็ดี รู้อยู่แล้วละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริงซึ่งอาจจะได้จูงใจผู้รับประกันภัยให้เรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นอีกหรือให้บอกปัดไม่ยอมทำสัญญา หรือว่ารู้อยู่แล้วแถลงข้อความนั้นเป็นความเท็จไซร้ ท่านว่าสัญญานั้นเป็นโมฆียะ
ถ้ามิได้ใช้สิทธิบอกล้างภายในกำหนดเดือนหนึ่งนับแต่วันที่ผู้รับประกันภัยทราบมูลอันจะบอกล้างได้ก็ดี หรือมิได้ใช้สิทธินั้นภายในกำหนดห้าปีนับแต่วันทำสัญญาก็ดี ท่านว่าสิทธินั้นเป็นอันระงับสิ้นไป
มาตรา 866 ถ้าผู้รับประกันภัยได้รู้ข้อความจริงดังกล่าวในมาตรา 865 นั้นก็ดีหรือรู้ว่าข้อแถลงความเป็นความเท็จก็ดี หรือควรจะได้รู้เช่นนั้นหากใช้ความระมัดระวังดังจะพึงคาดหมายได้แต่วิญญูชนก็ดี ท่านให้ฟังว่าสัญญานั้นเป็นอันสมบูรณ์

ก่อนที่จะทำสัญญาประกันชีวิต ควรสอบถามตัวแทนให้แน่ชัด เกี่ยวกับรายละเอียดในการทำประกันชีวิตว่าจะต้องเปิดเผยความจริงอะไรบ้าง ถึงแม้จะไม่ตรวจสุขภาพ ผู้เอาประกันก็ต้องบอกความจริงว่าเคยไปพบแพทย์หรือรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลใดมาก่อน โรคร้ายแรงหรือไม่ร้ายแรงก็ควรจะแจ้งให้ทราบ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสุจริตในการขอใช้บริการประกันชีวิต ไม่ควรปกปิดความจริง เพราะหลักเกี่ยวกับการทำประกันชีวิตยึดหลักสุจริตอย่างยิ่งเป็นสำคัญของทั้งสองฝ่าย แต่หากผู้เอาประกัน ไม่รู้ว่าตนเองเป็นโรคร้ายแรงถึงแม้จะตรวจพบภายหลังก็ไม่ถือว่าปกปิด เพราะคำว่าปกปิดหมายถึง รู้ว่าเป็นโรคร้ายแรง โดยทราบจากแพทย์มาแล้ว แต่โกหกว่าไม่เคยรู้มาก่อน ทนายคลายทุกข์หวังว่าผู้เอาประกันจะได้ประโยชน์จากบทความนี้ในการทำประกันชีวิตจากบริษัทประกันชีวิต

ที่มา: http://www.decha.com

แสดงความคิดเห็น

Scroll to Top